"อารมณ์ที่หมักหมมเรื้อรังนั้นมีพิษต่อจิตใจและร่างกายอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง
เราจำเป็นต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ไม่ให้หมักหมมเรื้อรัง
สำหรับอารมณ์ขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ คงไม่มีวิธีการใดดีกว่าการให้อภัย"
หญิงสาวคนหนึ่งมีอาการปวดท้องและปวดหัวเรื้อรัง ทั้งยังมีความดันโลหิตสูงด้วย
ไปหาหมอครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่มีอาการดีขึ้น น่าแปลกก็คือหมอหาสาเหตุของโรคไม่พบ
ร่างกายของเธอเป็นปกติทุกอย่าง สุดท้ายหมอก็ถามเธอว่า "ชีวิตของคุณเป็นอย่างไรบ้าง
เล่าให้ผมฟังหน่อยสิ"
ความขุ่นข้อง
โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ใช่เป็นแค่อารมณ์ที่มาแล้วก็ผ่านไปดังสายลม
บ่อยครั้งมันถูกเก็บสะสมและหมักหมมจนไม่เพียงทำให้ร้าวรานใจเท่านั้น
หากยังบั่นทอนร่างกายจนเจ็บป่วยเรื้อรังดังหญิงสาวผู้นี้
อารมณ์ที่หมักหมมเรื้อรังนั้นมีพิษต่อจิตใจและร่างกายอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง
เราจำเป็นต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ไม่ให้หมักหมมเรื้อรัง
สำหรับอารมณ์ขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ คงไม่มีวิธีการใดดีกว่าการให้อภัย
ดังที่หญิงสาวผู้นี้ได้ค้นพบด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตามอารมณ์ที่มีพิษบั่นทอนจิตใจและร่างกายนั้น
มิได้มีแค่ความขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ เท่านั้น
หากยังมีอีกมากมาย เช่น ความท้อแท้ ผิดหวัง เศร้าโศก พยาบาท และที่เป็นกันแทบทุกคนก็คือ
ความเครียด และวิตกกังวล
จากประกายไฟกลายเป็นกองเพลิง
อารมณ์เหล่านี้ก็เช่นเดียวกับไฟ คือไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากการสัมผัสหรือเสียดสีอย่างน้อยสองอย่างคือ
ตากระทบรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ฯลฯ แน่นอนต้องเป็นรูป
เสียง หรือกลิ่นที่ไม่น่ายินดี ทำให้เกิดความทุกข์หรือความไม่พอใจขึ้นมา
ความไม่พอใจนี้เปรียบดังประกายไฟซึ่งวาบขึ้นมาเมื่อมีการเสียดสีกัน
ธรรมดาประกายไฟเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับวูบไปในทันที แต่ถ้ามีเชื้อไฟอยู่ใกล้
ๆ มันก็ลุกเป็นเปลวไฟ แล้วอาจขยายเป็นกองไฟ หรือลามจนกลายเป็นมหาอัคคีไปในที่สุด
ดังนั้นความทุกข์หรือความไม่พอใจจึงเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต
และถ้าปล่อยให้มันดับไปเองเฉกเช่นประกายไฟก็ไม่มีปัญหาอะไร ปัญหาอยู่ที่เรากลับทำให้ความไม่พอใจนั้นยืดเยื้อเรื้อรังจนลุกลามขยายใหญ่โต
กลายเป็นอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน จนบางทีอั้นไว้ไม่อยู่ ต้องระบายใส่คนอื่น
หรือถ้าอั้นเอาไว้ได้ มันก็วกกลับมาทำร้ายร่างกายและจิตใจของตนเอง
จนป่วยด้วยโรคสารพัด เราไปทำอะไรหรือ ถึงไปโหมกระพืออารมณ์ให้พลุ่งพล่านขึ้นมา?
คำตอบก็คือ เราไปเติมเชื้อให้มันโดยไม่รู้ตัว
ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์อันไม่น่าพอใจเกิดขึ้น
เรามักจะเก็บเอามาคิดซ้ำย้ำทวน หรือครุ่นคิดอยู่ไม่วาย ทั้ง ๆ
ที่ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะครุ่นคิดอยู่นั่นเอง
การครุ่นคิดถึงมันอยู่บ่อย
ๆ เท่ากับเป็นการเติมเชื้อให้มันเติบใหญ่และลุกลามไปเรื่อย ๆ จนอาจถึงจุดที่ควบคุมไม่อยู่
เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ก็เพราะเหตุนี้
เคยมีนักเรียนบางคนถึงกับฆ่าตัวตายเพียงเพราะถูกเพื่อนล้อว่ามีสิว
สิวเพียงไม่กี่เม็ดบนใบหน้าผลักให้นักเรียนวัยใสทำร้ายตัวเองได้อย่างไร
หากไม่ใช่เพราะการเก็บเอาคำหยอกล้อของเพื่อน ๆ มาครุ่นคิดทั้งวันทั้งคืน
จนความอับอายและน้อยเนื้อต่ำใจกลายเป็นความหมดอาลัยในชีวิต
ทุกข์คลายได้
ถ้ารู้จักปล่อยวาง
เมื่อความทุกข์หรือความไม่พอใจเกิดขึ้น วิธีป้องกันมิให้มันลุกลามหรือหมักหมมจนกลายเป็นอารมณ์เรื้อรังที่เป็นพิษต่อชีวิตของเรา
ก็คือการไม่เก็บเอามาคิดย้ำซ้ำทวนหรือหวนกลับไปนึกถึงบ่อย ๆ จนถอนไม่ได้
ยิ่งคิดก็ยิ่งถลำลึกในอารมณ์ และทำให้อารมณ์มีพลังดึงดูดจนหลุดออกมาได้ยากขึ้นเรื่อย
ๆ
เหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่พอใจนั้น
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในอดีตที่ไม่อาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้
การครุ่นคิดถึงมันเพียงเพราะใจอยากคิดนั้น ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร
กลับจะเป็นโทษด้วยซ้ำ เว้นเสียแต่ว่าต้องการทบทวนเพื่อสรุปหาบทเรียนหรือทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้
(แม้กระนั้นก็ต้องระวังไม่ให้ตกลงหลุมอารมณ์โดยไม่รู้ตัว)
พูดง่าย ๆ คือต้องรู้จักปล่อยวาง
เชื่อหรือไม่ว่าตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราทุกข์อย่างยิ่งนั้น อยู่ที่ใจซึ่งปล่อยวางไม่เป็นต่างหาก
หาได้อยู่ที่คนอื่นหรือเหตุการณ์ภายนอกไม่ แม้จะมีอะไรมากระทบอย่างแรง
แต่ถ้าใจรู้จักปล่อยวาง มันก็ทำอะไรเราไม่ได้
รู้เมื่อใด ละเมื่อนั้น
ไม่ว่าอารมณ์จะหมักหมมเรื้อรังเพียงใด ก็ไม่เกินวิสัยที่จะปล่อยไปจากใจ
ขอเพียงมีสติระลึกรู้ทันว่ากำลังหลงยึดมันอยู่ อย่าลืมว่ามันค้างคาในใจเราได้
เพราะใจเรานั่นแหละที่ไปยึดมันเอาไว้ไม่ยอมปล่อย
ทันทีที่ใจปล่อย
มันก็หลุด แต่เผลอเมื่อไร ใจก็อาจไปยึดมันเอาไว้อีก ถ้าจะไม่ให้เผลอ
ก็ต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ สติจึงมีความสำคัญอย่างมากในการปลดเปลื้องอารมณ์เหล่านี้
สตินั้นสามารถใช้รับมือกับอารมณ์ต่าง
ๆ ได้ทุกชนิด โดยเพียงแต่รู้เฉย ๆ ว่ามีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น
ใจก็ปล่อยมันหลุดไปเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปขับไสไล่ส่งมันเลย บางคนคิดว่าจะต้องเข้าไปเล่นงานมัน
เช่น กดมันเอาไว้ หรือไล่มันไป แต่ยิ่งทำ ก็ยิ่งเป็นการเติมเชื้อให้มันมีพลังมากขึ้น
หรือกลายเป็นการติดกับดักมัน เหมือนกับไก่ป่าที่คิดไล่ไก่ต่อที่นายพรานเอามาล่อไว้
แต่สุดท้ายก็ติดกับดักของนายพราน
เปลี่ยนความสนใจไปยังสิ่งอื่น
การย้ายความสนใจไปยังสิ่งอื่น ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ใจไม่ไปหมกมุ่นกับความทุกข์หรือตกหลุมอารมณ์อกุศลทั้งหลาย
เช่น เวลาโกรธใครขึ้นมา ลองดึงจิตมาจดจ่อกับลมหายใจ ขณะเดียวกันก็หายใจเข้าลึก
ๆ หายใจออกยาว ๆ และนับทุกครั้งที่หายใจออก เริ่มจาก ๑ ไปจนถึง
๑๐ ถ้าลืมก็นับ ๑ ใหม่ แม้ความโกรธจะไม่หายทันที แต่ก็จะทุเลา
หรือร้อนรุ่มน้อยลง เพราะมันสะดุดขาดตอนแม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม
การนึกถึงความทุกข์ของผู้อื่น
ก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ของเราด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงคนที่ลำบากกว่าเรา
มองแง่ดี
ขยะปฏิกูลนั้น
ถ้าใช้ไม่เป็น ปล่อยให้หมักหมม ก็ส่งกลิ่นเหม็นและเป็นที่มาของโรค
แต่ถ้ารู้จักใช้ ก็เป็นประโยชน์ เช่น กลายเป็นปุ๋ย
ความทุกข์หรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็เช่นกัน
ไม่ว่าโรคภัยไข้เจ็บ ความพลัดพรากสูญเสีย หรือความยากลำบาก ถ้าเราไม่รู้จักมอง
ก็ก่อให้เกิดอารมณ์หมักหมมที่ล้วนเป็นอกุศล แต่ถ้ามองเป็นจนเห็นประโยชน์
หรือรู้จักมองในแง่ดี อารมณ์อกุศลก็จะคลายไป เกิดความรู้สึกดีขึ้นมาแทนที่
หรืออย่างน้อยก็ปล่อยวางได้มากขึ้น
เหตุการณ์ที่ไม่น่ายินดีทั้งหลาย
ถ้ามองให้เป็น ก็ยังยิ้มได้ มีผู้ป่วยหลายคนอุทานว่า "โชคดีที่เป็นมะเร็ง"
เพราะมะเร็งทำให้เขาและเธอได้พบหลายอย่างที่มีคุณค่าต่อชีวิต เช่น
ได้รู้จักธรรมะ ได้อยู่ใกล้คนรัก บางคนเป็นมะเร็งสมอง แต่ก็ยังบอกว่าโชคดีที่ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูก
เพราะเคยเห็นญาติทุกข์ทรมานกับโรคนี้มาก
ขยะและสิ่งปฏิกูลนั้น
สามารถแปรเป็นปุ๋ยและบำรุงต้นไม้ให้งอกงาม จนออกดอกออกผลฉันใดก็ฉันนั้น
ปัญหาทั้งหลายก็มีแง่ดีหรือมีประโยชน์ ถ้ามองให้เป็น อารมณ์อกุศลก็ยากจะหมักหมมหรือยืดเยื้อเรื้อรังได้
เยียวยาใจด้วยการให้อภัย
ถ้าหากอารมณ์ที่หมักหมมนั้นเป็นความโกรธ
เกลียด พยาบาท วิธีหนึ่งที่ช่วยเปลื้องอารมณ์เหล่านี้ไปจากใจอย่างได้ผลมากคือ
การให้อภัย หรือดียิ่งกว่านั้นคือการแผ่เมตตาให้ ให้อภัยคือไม่ถือโทษโกรธเคืองในเรื่องที่ผ่านมา
ส่วนแผ่เมตตาหมายถึงการตั้งจิตปรารถนาดีให้มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป
การให้อภัยคนที่ทำร้ายเรานั้นเป็นเรื่องยาก
แต่การที่จะมีชีวิตอย่างผาสุกตราบใดที่ยังมีความโกรธเกลียดสั่งสมในจิตใจ
กลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า
ในใจของทุกคน
ย่อมมีบาดแผลจากความโกรธเกลียด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมี "ยาสามัญประจำใจ"
ขนานนี้ไว้เยียวยาอยู่เสมอ
อยู่วิเวกเป็นครั้งคราว
อาหารถ้ากินมาก ๆ ก็มีสารพิษสะสมมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้การขับสารพิษเป็นไปได้ยาก
เพราะร่างกายต้องใช้พลังงานส่วนใหญ่ไปกับการย่อยเป็นหลัก ดังนั้นเวลาจะขับสารพิษออกไปจากร่างกาย
จึงควรงดอาหารเป็นครั้งคราว
ฉันใดก็ฉันนั้น
การเสพข่าวสาร แสงสี และการพบปะผู้คนอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นลงไม่หยุดหย่อน
อารมณ์เหล่านี้แม้จะดับไปในเวลาไม่นาน แต่ก็มักทิ้งตะกอนอารมณ์ไว้ในใจเรา
ซึ่งหากสะสมมากพอ ก็ทำให้เราเกิดอารมณ์เหล่านี้ได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น
เช่น คนที่หัวเสียหรือเครียดบ่อย ๆ นานไปก็จะหัวเสียและเครียดได้ง่ายขึ้นแม้กับเรื่องเล็ก
ๆ น้อย ๆ
ดังนั้นจึงควรมีบางช่วงที่เราปลีกตัวหลีกเร้นจากข่าวสาร
แสงสี และการพูดคุย ห่างไกลจากโทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือ อยู่คนเดียวอย่างเงียบ
ๆ อย่างน้อยปีละ ๑ อาทิตย์ ถือเป็นโอกาสเจริญสติ บำเพ็ญสมาธิภาวนา
เพื่อลดตะกอนอารมณ์ วิธีนี้ยังเป็นการ "เว้นวรรค" อารมณ์ไม่ให้ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จนลุกลาม
จิตใจจะได้แจ่มใสสดชื่นอีกครั้งหนึ่ง
อยู่ในโลกอย่างรู้เท่าทัน
อย่างไรก็ตามเราอยู่ในโลกที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน
เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับข้อมูล ข่าวสาร แสงสี ตลอดจนอารมณ์ของผู้คนโดยไม่ทุกข์ด้วย
มิใช่เอาแต่หลีกเร้นอย่างเดียว วิธีการอยู่กับสิ่งเหล่านี้ก็คือการรักษาใจให้มีสติอยู่เสมอ
ใช่หรือไม่ว่าหูของเราชอบหาเรื่อง
จึงไปยึดเอาเสียงต่าง ๆ มาทิ่มแทงใจของตัว ส่วนตา หู จมูก ลิ้น
กาย และใจก็ไม่เบาเช่นกัน เราจึงมีความทุกข์อยู่ไม่ว่างเว้น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะไม่มีสติกำกับนั่นเอง
การอยู่กับผู้คนมาก
ๆ หากมีสติคู่ใจ มีอะไรมากระทบ แม้จะออกมาจากอารมณ์ที่ร้อนแรง
แต่ก็จะไม่ติดตรึงใจเราได้ เพราะเรารู้ทันอารมณ์ที่มากระทบ และปล่อยวางได้ทันเปรียบดังใบบัวที่ไม่ยอมให้หยดน้ำมาเกาะติดได้
เปิดปากเปิดใจ
แต่ปุถุชนนั้นยากที่จะมีสติตลอดเวลา ได้ยินได้เห็นอะไรไม่ถูกใจ
ย่อมปล่อยวางไม่ทัน เก็บเอามาทิ่มแทงตัวเอง ซ้ำยังอดไม่ได้ที่จะคิดปรุงแต่งไปทางร้าย
เห็นเขากระซิบกระซาบกัน ก็คิดว่าเขากำลังนินทาตนเอง ถ้าปักใจเชื่อเช่นนั้น
ก็จะรู้สึกไปในทางร้ายกับเขาทันที คำถามก็คือเรามั่นใจในข้อสรุปของตัวเองแล้วหรือ
จะดีกว่าไหมหากเปิดปากซักถามเขาว่ากำลังกระซิบกระซาบกันเรื่องอะไร
เรามักด่วนสรุปไปตามความคิดชั่วแล่น
โดยไม่สาวหาความจริง การเปิดปากซักถาม เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราด่วนสรุปอย่างผิด
ๆ จนเกิดอารมณ์อกุศลขึ้น ใช่หรือไม่ว่าเมื่อความจริงปรากฏ บ่อยครั้งมันกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่เรานึก
ความกินแหนงแคลงใจและความร้าวฉานมักเกิดจากความเข้าใจผิด
และความเข้าใจผิดมีจุดเริ่มต้นจากการด่วนสรุปและไม่สืบสาวหาความจริง
ทั้ง ๆ ที่เพียงแค่เปิดปากซักถาม ความจริงก็ปรากฏ
ไม่ว่าในครอบครัว
หรือที่ทำงาน การรู้จักเปิดปากซักถามเป็นวิธีป้องกันความเข้าใจผิด
และสกัดกั้นมิให้เกิดอารมณ์อกุศลได้เป็นอย่างดี แต่เท่านั้นคงไม่พอ
นอกจากการเปิดปากซักถามแล้ว บางครั้งมีความจำเป็นที่ต้องมีการเปิดปากเล่าความในใจด้วย
สาเหตุที่ความไม่พอใจสะสมมากขึ้นเพราะเราไม่กล้าเล่าความในใจให้อีกฝ่ายรับรู้
ว่ารู้สึกข้องขัดอย่างไรบ้าง การปิดปากเงียบ ทำให้อารมณ์คุกรุ่นจนอาจระเบิดออกมา
และก่อความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง
ในการอยู่ร่วมกัน
เราควรส่งเสริมซึ่งกันและกันให้พร้อมที่จะเปิดปากซักถามเมื่อมีความสงสัยไม่แน่ใจ
หรือเปิดปากเล่าความในใจเมื่อมีความขุ่นข้องหมองใจกันขึ้นมา แต่จะทำเช่นนั้นได้ทุกฝ่ายต้องพร้อมเปิดใจรับฟังสิ่งที่อาจไม่ถูกใจ
หรือไม่ตรงกับความคิดของตน การเปิดใจรับฟังอย่างมีสติ และความเห็นอกเห็นใจ
จะช่วยให้ผู้คนพร้อมเปิดปากซักถามและเล่าความในใจได้อย่างเต็มที่
แล้วเราอาจพบว่าปัญหานั้นแก้ได้ไม่ยากเลย ใช่หรือไม่ว่าปัญหาเล็ก
ๆ ลุกลามจนเป็นเรื่องใหญ่ได้ก็เพราะการไม่เปิดปาก
เปิดใจให้แก่กันและกัน
การเปิดปากเปิดใจไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใส่อารมณ์เข้าหากัน หากทุกฝ่ายมีสติรักษาใจ
หรือแม้นว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีสติ แต่ถ้าคนหนึ่งมีสติ ตั้งอยู่ในความนิ่งสงบ
ก็สามารถช่วยลดทอนอารมณ์ของผู้อื่นได้ ขอให้คน ๆ นั้นเริ่มต้นที่ตัวเรา
ที่เหลือก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญอีกต่อไป