เกษตรนครหลวง เตือนชาวนาระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว

เกษตรนครหลวง เตือนชาวนาระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว

  • เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงปากดูด มีชนิดปีกยาวและปีกสั้น ตัวเต็มวัยมีขนาดยาวประมาณ 3 มม. กว้าง 1 มม. ลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ เพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มเรียงแถวที่เส้นกลางใบหรือกาบใบ บริเวณนั้นจะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนลอกคราบ 5 ครั้ง ภายใน 13 – 17 วัน เพื่อเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าว โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ท่อน้ำ ท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าว
    มีอาการใบเหลืองแห้งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก และแห้งตายเป็นหย่อม ๆ เรียก “อาการไหม้ (hopperburn) โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอ ถึงระยะออกรวง นอกจากนี้ยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส
    โรคใบหงิก (rice ragged stunt) มาสู่ต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น ต้นเตี้ย ใบสีเขียวแคบและสั้น ใบแก่ช้ากว่าปกติ ปลายใบบิดเป็นเกลียวและขอบใบแหว่งวิ่น

    การป้องกันกำจัดโดยวิธีผสมผสาน
    1. หมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ
    2. ไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณที่มากเกินไป เพราะจะทำให้ต้นข้าวอวบเหมาะแก่การเข้าทำลาย
    3. ควบคุมระดับน้ำในนาข้าว โดยการระบายน้ำออกเป็นครั้งคราวแบบเปียกสลับแห้ง
    4. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติเพื่อใช้ควบคุมการระบาด เช่น มวนเขียวดูดไข่
    แมงมุมสุนัขป่า ด้วงก้นกระดก แมลงปอเข็ม แมงมุมเขี้ยวยาว เป็นต้น
    5. ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย หรือ เชื้อราเมตาไรเซียม อัตรา 1 กก. (เชื้อสด) / น้ำ 20 ลิตร พ่นในบริเวณที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและควรพ่นในเวลาเย็น
    6. ฉีดพ่นสารสกัดสะเดา อัตรา 100 มล./น้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบและควรพ่นในเวลาเย็น
    7. ใช้สารเคมีที่แนะนำให้ใช้ในการกำจัด #เมื่อพบจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 10 ตัวต่อกอ ปัจจุบันสารที่มีประสิทธิภาพสูงได้แก่ สารไพมีโทรซีน (กลุ่ม 9B)⭐⭐⭐ และสารฟลอมิคามิค (กลุ่ม29)⭐⭐⭐ รองลงมา ได้แก่ สารบูโพรเฟซิน (กลุ่ม16) ,สารอิทิโพล (กลุ่ม2) สารในกลุ่ม 4 เช่น ซัลฟอกซาฟลอร์ 50% WG ไดโนทีฟูแรน อิมิดาคลอพริด ไทอะมีโทแซม และสารในกลุ่ม 1 เช่น ไอโซโพคาร์บ ฟีโนบูคาร์บ เป็นต้น
    ✅✅✅ ในส่วนขอเทคนิคการพ่นสาร ควรเน้นพ่นไปยังส่วนโคนของต้นข้าวดังนั้นผู้พ่นควรกดหัวฉีดลงให้มากที่สุดขณะพ่นสารหรือการใช้โดรนพ่นสารจึงเหมาะสมในการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงอาจมีการผสมสาร 2 กลุ่มกลไกลการออกฤทธิ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตัดวงจรการระบาดไปก่อน (แต่ควรดูความเข้ากันได้ของสารทางกายภาพและประสิทธิภาพด้วย) และไม่ควรใช้สารเคมีชิดเดียวกันต่อเนื่องเกิน 3 ครั้ง
    ❌❌❌ ห้ามใช้สารฆ่าแมลงที่ทำให้เกิดการเพิ่มระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (resurgence) หรือทำลายศัตรูธรรมชาติทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลรุนแรงขึ้น เช่นสารกลุ่ม 3 บางตัว (ไพรีทรอยด์) และกลุ่ม 1 บางตัว (ออแกโนฟอสเฟสและคาร์บาเมต) และกลุ่ม 6 #นอกจากนี้สามารถสังเกตุได้ที่ฉลากมุมซ้ายบนจะเขียนว่าห้ามใช้ในนาข้าว

ออกแบบโดย dsite.in.th